Open Innovation

ข่าวประชาสัมพันธ์

“Klass Bits ระบบประเมินและเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้รายบุคคลสำหรับนักเรียน”

16 กุมภาพันธ์ 2566
“Klass Bits ระบบประเมินและเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้รายบุคคลสำหรับนักเรียน”
“Klass Bits ระบบประเมินและเสริมสร้างศักยภาพ
การเรียนรู้รายบุคคลสำหรับนักเรียน”
 
                                                                                ปวันรัตน์ วงศ์วรรณไพศาล
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 
                 หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษา คือ “การวัดและประเมินผล” ที่ผ่านมาโรงเรียนในประเทศไทยมีระบบการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยแต่ละโรงเรียนจะนำกรอบที่ได้กำหนดไว้ตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิธีการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนนั้น ๆ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553) แต่รูปแบบการประเมินผลดังกล่าวยังขาดการวัดผลและประเมินผลที่ครอบคลุมทักษะทุกด้านของผู้เรียน และระบบการติดตามภายหลังได้รับการประเมิน ทำให้ผลการประเมินมีความคลาดเคลื่อน ส่งผลให้การปรับรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนไม่ตรงกับสิ่งที่นักเรียนควรจะได้รับ การพัฒนา และจากรายงานผลคะแนนตามโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียน มาตรฐานสากล (PISA) ล่าสุดของนักเรียนทั้ง 3 ช่วงชั้น ระหว่างปีการศึกษา 2558 -  2560 พบว่านักเรียนไทยมีผลคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสากลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากระบบการวัดและประเมินผลของประเทศไทยเน้นการท่องจำมากกว่าการวิเคราะห์ ไม่ได้ครอบคุลมทักษะทุกด้านของผู้เรียน และไม่มีระบบเชื่อมโยงกับผลการเรียนรู้ของผู้เรียนกับรูปแบบการเรียนการสอนและผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการในด้านวิชาการ และทักษะอื่น ๆ ได้ตรงจุดนอกเหนือจากการเรียนรู้ที่โรงเรียน
                      ด้วยเหตุนี้ บริษัท 360 เทรนนิ่งเซนเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันกวดวิชา และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและสร้างระบบเทคโนโลยีการศึกษาให้กับโรงเรียน จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับแนะแนวทางการพัฒนาทักษะในด้านวิชาการ และความสามารถให้นักเรียนเฉพาะบุคคล โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยประเมินผลการเรียน และประสิทธิภาพการสอนของครู ทำให้นักเรียนและครูผู้สอนสามารถทราบข้อมูลการประเมินผลได้ทันที นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง เพื่อปรับปรุงและพัฒนานักเรียนร่วมกันได้อีกด้วย ซึ่งผลการทดลองใช้แพลตฟอร์มในนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 3 ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าระบบสามารถช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ลดเวลาของครูในการทำข้อมูลเพื่อประเมินผลได้มากกว่าร้อยละ 80 ลดความเครียดและความคาดหวังของผู้ปกครอง ลดการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในวัยเรียน เนื่องจากทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันชัดเจน อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับโรงเรียนจากการมีเกณฑ์การวัดและประเมินผลที่ได้มาตรฐาน และสามารถสะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของผู้เรียนได้ปัจจุบันมีโรงเรียนและสถาบันกวดวิชานำระบบ Klass Bits ไปใช้งานจริงแล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกวางตง จังหวัดสุโขทัย สถาบันสิงคโปร์แมท จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จังหวัดกรุงเทพมหานคร และ โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระบบประเมินกว่า 1,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่นำระบบไปทดลองใช้งานอีกกว่า 10 แห่ง

ผลกระทบทางด้านด้านเศรษฐกิจ
                โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 5 ล้านบาท จากรายได้ของบริษัท ใน 2 ปีแรก กับการจำหน่ายระบบให้กับโรงเรียนประมาณ 2.5 ล้านบาท และเพิ่มรายได้ให้กับโรงเรียนที่นำระบบ Klass Bits ไปใช้งาน เนื่องจากช่วยสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมให้ผู้ปกครองตัดสินใจให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนั้น ๆ มากถึงร้อยละ 15

      ผลกระทบทางด้านสังคม
              โครงการดังกล่าว ช่วยส่งเสริมให้มีระบบการพัฒนาศักยภาพบุคคลให้ได้คุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของระบบเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต  และช่วยยกระดับการประเมินผลทักษะการเรียนรู้ของเด็กไทย ทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างตรงจุด ได้ทั้งทักษะทางวิชาการ และความสามรถเฉพาะบุคคล อีกทั้งก่อให้เกิดการส่งเสริมผู้เรียนที่สอดคล้องกันระหว่าง ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง
 

 
โครงการ Klass Bits ระบบประเมินและเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้
รายบุคคลสำหรับนักเรียน
ได้รับการสนับสนุน: ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด ด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาคเหนือ


ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม: บริษัท 360 เทรนนิ่ง เซนเตอร์ จำกัด
ที่อยู่: 59/555 ถนนศรีธรรมไตรปิฎก ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000
เบอร์ติดต่อ: 095-695-6195
อีเมล: 360trainingcenter@gmail.com

 


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
องค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน

ที่อยู่: 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

Copyright © National Innovation Agency (NIA) 2019 All rights reserved.