Open Innovation

ข่าวประชาสัมพันธ์

BioMatLink: ระบบการซื้อขายมันสำปะหลัง

3 มกราคม 2566
BioMatLink: ระบบการซื้อขายมันสำปะหลัง
BioMatLink: ระบบการซื้อขายมันสำปะหลัง
"BioMatLink" Innovative Trading System for Cassava Industry
                                                                                 
นางสาวปณาลี พงษ์แดง
                                                  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
       อุตสาหกรรมมันสำปะหลังในปี 2565-2567 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามการขยายตัวของความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศ (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเอทานอล) และตลาดส่งออก (สัดส่วน 67% ของผลผลิตทั้งหมดในประเทศ) โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดหลัก ซึ่งอาจมีผลมาจากความต้องการที่มีทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเอทานอล และสต๊อกข้าวโพดในจีนซึ่งเป็นสินค้าทดแทนปรับลดลง จากการเร่งระบายสต๊อกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวโพดมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมมันสำปะหลังยังมีปัจจัยท้าทายด้านปริมาณผลผลิตที่มีความไม่แน่นอน ขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด (โรคใบด่างมันสำปะหลัง) และด้านการตลาดที่ยังต้องพึ่งพาตลาดจีนซึ่งมีการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านสูง
       ปัญหาหลักของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทยคือ การบริหารจัดการไม่เป็นระบบมายาวนาน ไม่มีมาตรฐานในการควบคุม โดยเฉพาะจุดรับซื้อหรือลานมันสำหรับให้บริการเกษตรกรที่มีปริมาณมันสำปะหลังน้อย และไม่สามารถขนส่งมันสำปะหลังไปขายที่หน้าโรงงานที่มีมาตรฐานในการรับซื้อได้ ซึ่งการขายมันสำปะหลังนี้ เกษตรกรนิยมขุดมันสำปะหลังส่งพ่อค้าคนกลางหรือจุดรับซื้อ โดยใช้การชั่งน้ำหนักร่วมกับใช้ความชำนาญส่วนบุคคลในการประเมินคุณภาพหรือปริมาณแป้งของมันสำปะหลัง เพื่อกำหนดราคารับซื้อ จากกระบวนการดังกล่าวทำให้เกษตรกรบางรายเปลี่ยนพฤติกรรมไปปลูกมันที่ให้น้ำหนักสูงแต่แป้งต่ำ (บวมน้ำ) นอกจากนี้ เมื่อพ่อค้าคนกลางรวบรวมมันสำปะหลังจากจุดรับซื้อแล้วนำไปส่งโรงงานโดยไม่ผ่านกระบวนการคัดคุณภาพ ทำให้โรงงานประสบปัญหากับดิน ทราย หิน และสิ่งปนเปื้อนจำนวนมาก รวมถึงมีปริมาณแป้งต่ำ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและผลผลิตต่ำ และต้องหยุดผลิตล้างเครื่องจักร หรือต้องซ่อมบำรุงอยู่ตลอดเวลาทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้น จึงมากดราคามาที่พ่อค้าคนกลาง และพ่อค้าคนกลางก็ไปกดราคาต่อที่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรขายได้ที่ราคา 0.50 - 2.00 บาทต่อกิโลกรัมมาตลอด 50 ปี 
       จากปัญหาดังกล่าว บริษัท อิมเพรส กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จึงพัฒนาบริการระบบเชื่อมโยงระหว่างไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรกับตลาดผ่านกระบวนการคัดคุณภาพตั้งแต่ไร่มาถึงจุดรับซื้อ โดยนำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ร่วมกับระบบซื้อขายเพื่อทำให้เกิดการทำงานแบบ ARP (Address Resolution Protocol) ที่มีความแม่นยำ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ จึงทำให้มีความหน้าเชื่อถือ (creditability) และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ได้ พร้อมกันนี้ ยังมีการพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนสมาชิกเกษตรกรด้วยระบบจัดเก็บฐานข้อมูลดิจิทัลผ่าน Face recognition ที่ใช้ร่วมกับระบบ Smart logistics มีการติดตั้ง GPS ระบบติดตามการขนส่ง License Plate Recognition และมีระบบบ่งบอกถึงความเป็นเจ้าของของไร่มันสำปะหลังนั้นๆ (RFID) นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมข้อมูลน้ำหนักมันสำปะหลัง ตลอดจนมีระบบการโอนเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันให้เกษตรกรทดแทนการรับเงินสดอีกด้วย

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
       โครงการดังกล่าว ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรกับตลาด ทำให้สามารถลดข้อผิดพลาดจากการทำงานของพนักงาน ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บข้อมูลและควบคุมคุณภาพของมันสำปะหลังในกลุ่มตลาดดั้งเดิมให้ดีขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกจนขั้นตอนการคัดคุณภาพตั้งแต่ไร่มาถึงจุดรับซื้อ รวมถึงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ โดยปัจจุบันในระบบมีการลงนามสัญญาซื้อมันเส้นล่วงหน้าจำนวน 110,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าซื้อขายประมาณ 800 ล้านบาท รวมทั้งยังมีโรงงานอาหารสัตว์แห่งที่ 2 ขอลงนามสัญญาซื้อขายมันเส้นล่วงหน้า 60,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าซื้อขายกว่า 500 ล้านบาท โดยมีเกษตรเข้าร่วมโครงการประมาณ 60,000 ราย

ผลกระทบทางด้านสังคม
       ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดฉะเชิงเทรามีรายได้มั่นคงและยั่งยืน เกษตรกรสามารถสร้างสินค้าที่ตรงความต้องการผู้บริโภค สร้างรายได้มากกว่าเดิมร้อยละ 50 รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ร้อยละ 20 และพ่อค้าคนกลางมีรายได้มากกว่าเดิมร้อยละ 10
 
BioMatLink: ระบบการซื้อขายมันสำปะหลัง ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิดด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาคตะวันออก
ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม: บริษัท ไบโอแมทลิ้งค์ จำกัด
ที่อยู่: 118/1 อาคารทิปโก้ทาวเวอร์ 1 ชั้น 19 ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท  เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400    
เบอร์ติดต่อ: 099-249-9474  

สนใจผลิตภัณฑ์เข้าชมได้ที่: https://web.biomatlink.com/


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
องค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน

ที่อยู่: 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

Copyright © National Innovation Agency (NIA) 2019 All rights reserved.